อยากเป็นผู้ตามที่ดี สู่ผู้นำที่ใช่ในวันหน้า 3 เรื่องนี้ต้องจัดการให้ได้

  • 23 พ.ค. 2566
  • 9619
หางาน,สมัครงาน,งาน,อยากเป็นผู้ตามที่ดี สู่ผู้นำที่ใช่ในวันหน้า 3 เรื่องนี้ต้องจัดการให้ได้

ดร.ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

 

เมื่อเริ่มต้นกับชีวิตการทำงาน คงยากที่จะได้รับความไว้วางใจมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้นำ หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า “หัวหน้า” เพราะการเป็นหัวหน้างานนั้นมิใช่เพียงแต่จะต้องรู้งานจนเชี่ยวชาญแทบทุกสิ่งใน function หนึ่งใดเท่านั้น หากแต่ยังต้อง “นำ” คนอื่นให้ทำงานได้ผลลัพธ์ที่กำหนดไว้อีกด้วย ซึ่งว่าไปแล้ว เรื่องหลังนี่นับว่ายากยิ่งกว่าการรู้งานจนเชี่ยวชาญมากมายนัก

หากองค์กรจะต้องเลื่อนตำแหน่งให้พนักงานสักคนหนึ่งขึ้นไปเป็นหัวหน้า องค์กรจึงต้องมองต้องดูด้วยความรอบคอบ เพื่อมิให้สุดท้ายแล้วได้หัวหน้างานที่แย่ ๆ มาหนึ่งคน โดยเสียพนักงานระดับปฏิบัติการที่มากฝีมือไป ซึ่งจะแทนกันได้นั้นคงลำบาก และมักพบว่า หัวหน้าแย่ ๆ ชวนให้คับอกคับใจกับคนรอบข้างทั้งในหน่วยงานและต่างหน่วยงานอีกหลายประเด็น 

แล้วองค์กรใดหรือจะกล้าเสี่ยงตั้งพนักงานที่ยังไม่ได้พิสูจน์ฝีมือแน่ชัด ทั้งในเรื่องการจัดการงานและการจัดการคนเข้ามาเป็นหัวหน้า 

โดยนัยนี้นี่เอง หากท่านยังก้าวไปไม่ถึงความเป็นผู้นำ ก็ควรเรียนรู้ที่จะทำตัวเป็นผู้ตามที่ดี (Good Followers) ให้ได้

เรื่องการเป็นผู้ตามที่ดีนี้ เป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อยไปกว่าการเป็นผู้นำที่ดีนะครับ แปลกแต่จริงว่า บรรดาหนังสือ ตำราหรือสารพัดกลเม็ดเคล็ดลับ กลับเน้นไปที่เรื่องการพัฒนาทักษะหรือภาวะผู้นำ โดยไม่ค่อยพูดถึงเรื่องการเป็นผู้ตามที่ดีเท่าที่ควรนัก

หรือว่าเหตุที่การพูดถึงเรื่องการเป็นผู้ตามที่ดีจะไม่สำคัญ ? 

ผมว่า “ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นนะ”

ที่ว่า “ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น” ด้วยเพราะแท้จริงแล้ว การที่ผู้นำจะนำได้ดีเพียงใด ย่อมปราศจากเสียไม่ได้ซึ่งการมีผู้ตามที่รู้จักจังหวะการก้าวเดินตามกัน   งานวิจัยจำนวนมากที่สนใจเรื่องการเป็นผู้ตามบอกให้รู้ว่า ก่อนที่ผู้นำจะนำงานและนำคนได้ ล้วนแต่ต้องผ่านการเป็นผู้ตามที่ดีมาก่อนทั้งนั้น และการมีภาวะผู้นำก็มิใช่จะตกอยู่กับคนที่มีตำแหน่งการนำในองค์กรเท่านั้น หากแต่มีได้กับพนักงานทุกระดับชั้นในองค์กร ด้วยเพราะภาวะผู้นำจะช่วยประสานการทำงานระหว่างผู้นำและผู้ตามให้ราบรื่นประสบผลสำเร็จ องค์กรจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสร้างภาวะเช่นนั้นทั้งกับผู้นำและผู้ตาม 

มองในทางหนึ่งแล้ว ด้วยการที่คนส่วนใหญ่กลับเป็นกลุ่มผู้ตามที่ต้องตามผู้นำซึ่งเป็นคนส่วนน้อย  อาจจะเป็นไปได้ที่ในวันนี้ น่าหันมาคุยกันเรื่องภาวะผู้ตาม (Followership) กันให้มากหน่อย

คนทำงานที่เป็นดาวเด่น (Talented People) นั้น แทบทุกคนจะครองได้ทั้งบทบาทการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดีตามแต่สถานการณ์ที่เขาจะต้องรับมือ  เมื่อรับหน้าที่ผู้นำ ดาวเด่นเหล่านี้จะกล้าคิดนอกกรอบใหม่ ตั้งใจมุ่งมั่น กล้าตัดสินใจภายใต้สารสนเทศที่เพียงพอกับ Logic ที่เหมาะสม โดยไม่ละเลยการบริหารความเสี่ยงและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้จริงและบนหลักการที่ตนเองเชื่อมั่นว่าถูกต้อง แต่เมื่อรับหน้าที่ผู้ตาม คนเก่งก็พร้อมที่จะรับฟังและเสนอความเห็นที่แตกต่าง พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นเลิศกับงานในหน้าที่ โดยไม่ลังเลที่จะปรับปรุงทั้งตัวเอง ระบบและกระบวนการทำงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ดาวเด่นจึงเป็นไปได้ทั้งผู้นำและผู้ตามที่มากไปด้วยคุณค่าที่องค์กรทุกแห่งหนต้องการ

Robert Kelley นักวิชาการท่านแรก ๆ ที่เริ่มศึกษาถึงคุณลักษณะของผู้ตาม บอกไว้ในบทความชื่อ In Praise of Followers”  ตีพิมพ์ใน Harvard Business Review เมื่อปี 1988 ว่า ผู้ตามที่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิผลนั้น จะเป็นคนที่คิดและทำเพื่อพวกพ้อง (โดยไม่แบ่งแยก) ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายด้วยพลังและความกระตือรือร้น โดยสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับตัวเองได้แบบไม่ต้องคอยให้หัวหน้าจุด ทั้งยังมักจะพิเคราะห์ความเสี่ยงอย่างรอบคอบ อันทำให้เขามักจะได้รับการยกย่องชื่นชมจากทั้งหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอ

ขณะที่ Ira Chaleff  ผู้ประพันธ์หนังสือน่าอ่านเรื่อง “The Courageous Follower” ตีพิมพ์เมื่อปี 2009  มองว่า การเป็นผู้ตามที่ดีนั้น เป็นเรื่องของความสามารถที่จะยืนหยัดเพื่อหัวหน้าในบรรดางานที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม และชอบด้วยแนวปฏิบัติที่ดีงามทั้งปวง และยังเป็นผู้ที่คอยส่งสัญญาณเตือนเมื่อหัวหน้าเริ่มทำอะไรที่ผิดพลาดหรือไม่ถูกต้อง รวมทั้งการใดก็ตามที่อาจจะกระทบให้องค์กรเสียผลประโยชน์ 

สองความเห็นของผู้รู้ที่ผมเอ่ยถึงข้างต้น คงพอให้ท่านผู้อ่านเข้าใจเรื่องการเป็นผู้ตามได้ในระดับหนึ่ง

และหากท่านต้องการเป็นผู้ตามที่ดีแล้ว  ผมขอแนะนำให้ท่านจัดการกับ 3 เรื่องต่อไปนี้ครับ

 

1.การจัดการตนเอง

หากท่านอยากเป็นผู้ตามที่ประสบความสำเร็จ ควรเริ่มต้นจากการรู้จักเป้าหมายชีวิตของตัวเองให้ชัดเจนเสียก่อน รู้ว่าเป้าหมายของตัวเองคืออะไร ทำอย่างไรจึงจะทำให้เป้าหมายนั้นบรรลุได้ โดยที่เป้าหมายชีวิตกับเป้าหมายในงานควรต้องสอดคล้องต้องกัน เวลาเจอปัญหาก็จะมองมันเป็นเรื่องที่ท้าทายตัวเอง จะต้องพิสูจน์ฝีมือให้ได้เห็นและถือเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ในชีวิตและอาชีพการงาน

ผู้ตามที่ดีจะรู้จักจัดการตนเองให้มีคุณลักษณะหลายประการดังนี้ครับ

1.1 ริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่โดยไม่รอให้หัวหน้าสั่ง เพื่อให้หน่วยงานได้ประโยชน์อยู่เสมอ

1.2 ไม่ขีดวงแบ่งแยกงานของฉันงานของเธอ และยังเต็มที่ในการช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานคนอื่นเท่าที่จะทำได้ โดยไม่กระทบกับงานที่ตนรับผิดชอบ เช่น เป็นโค้ช เป็นพี่เลี้ยงเพื่อคอยช่วยเหลือให้เพื่อนร่วมงานที่อาจจะด้อยประสบการณ์กว่า เพื่อให้เขาทำงานได้ผลดีขึ้น

1.3 ไม่มุ่งหวังรางวัลตอบแทนเฉพาะหน้า แต่คำนึงถึงประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับ ซึ่งมักจะเป็นประโยชน์คืนกลับมาที่พนักงานในที่สุดอยู่ดี

1.4 ทำงานเกินกว่าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย 

1.5 ไม่เป็นพวกที่ว่าตามหัวหน้างานเสียทุกเรื่อง หากเรื่องนั้นไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นไปตามกรอบแนวทางที่มันควรจะเป็น

ผมอยากเน้นในประการหลังว่า การเป็นผู้ตามที่ดีนั้น พึงเข้าใจเสียหน่อยว่า หัวหน้างานหรือผู้นำไม่ว่าระดับใดนั้น ก็ใช่ว่าจะต้องการให้ลูกน้องเห็นคล้อยไปเสียหมดทุกเรื่อง หรือเป็นเด็กหัวอ่อนที่หัวหน้าว่าอย่างไรก็ว่าตามกัน หากแต่น่าแปลกเหลือเกินที่ผู้ตามจำนวนมากหลงผิด คิดไปว่าหัวหน้างานชอบลูกน้องที่เป็นแบบนี้ ในฐานะที่ผมเคยเป็นหัวหน้างานมาก่อน ส่วนตัวแล้วผมกลับกังวลอย่างมากกับลูกน้องที่ยอมรับทำตามทุกอย่าง ด้วยเพราะบางครั้ง ผมเองก็อาจจะพูดหรือทำเรื่องใดไม่ถูกต้องครบถ้วนไปทั้งหมด อันเป็นธรรมดามากของมนุษย์ที่จะเกิดขึ้นได้ ผมกลับชมชอบลูกน้องที่เมื่อมอบหมายงานหนึ่งใดให้แล้วเขามีความเห็นต่างก็จะนำมาปรึกษาหารือถึงวิธีการที่ควรจะต้องทำ มากกว่าที่จะลุยทำไปเลยโดยไม่ใส่ใจว่าผลจะเป็นอย่างไร ซึ่งสุดท้ายก็อาจจะได้งานมาแบบผิด ๆ ถูก ๆ และสร้างความเสียหายหรือเสียโอกาสอย่างที่มันไม่ควรจะเป็น

ผมไม่เถียงว่าในโลกการทำงานจริงก็จะมีผู้นำหลายแบบ และผู้นำจำนวนไม่น้อยก็โปรดปรานลูกน้องที่ไม่ตั้งคำถามกลับมา ไม่ว่าเรื่องใดก็จะก้มหน้าก้มตาทำตามคำสั่งไปโดยไม่ปริปาก 

ผมยังเชื่อมั่นว่า ผู้นำส่วนใหญ่นั้น ใจกว้างขวางมากพอที่จะรับฟังความเห็นหรือมุมมองที่แตกต่างออกไปจากที่ตนเองคิด เพียงแต่ลูกน้องที่เป็นผู้ตามทั้งหลายพึงตระหนักว่า การนำเสนอไอเดียเรื่องหนึ่งใดที่แตกต่างไปจากที่ผู้นำเขาบอกออกมานั้น หากทำด้วยความเหมาะสมสุภาพ ด้วยใจที่มุ่งมั่นไปที่ตัวงานหรือมุ่งทำงานให้สำเร็จ คำนึงถึงประโยชน์ขององค์กรส่วนรวม หากเป็นแบบนี้ ผู้นำคนใดก็ย่อมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้ตามอย่างแน่นอน  

 

2.การจัดการคนรอบข้าง

หากท่านต้องการเป็นผู้ตามที่ประสบความสำเร็จและได้ใจคนรอบข้าง อันหมายถึงเพื่อนร่วมงานทั้งในและนอกหน่วยงานแล้ว ผมแนะนำให้ลองทำเรื่องต่อไปนี้

2.1 “หยอดกระปุกน้ำใจ” ด้วยการให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานเท่าที่จะทำได้

2.2 มองเพื่อนเหมือน “ตู้ที่มีลิ้นชักหลายชั้น” บางชั้นก็จุแต่สิ่งที่ดีงาม และบางชั้นก็จุหลายเรื่องที่ไร้สาระ ซึ่งนั่นล่ะ คือคนที่เราต้องทำความเข้าใจให้ได้  และขอให้ท่านมองแต่สิ่งที่ดีของเขา เพื่อเอามาใช้กับการทำงานร่วมกัน เช่น หากรู้ว่าเพื่อนร่วมงานเป็นคนรักครอบครัวอย่างมาก แต่กลับเรื่องมากเวลาทำงานร่วมกับเรา ก็ควรรู้จักชวนเขาคุยในสิ่งที่ดีงาม (คือเรื่องที่เพื่อนรักครอบครัว) เสียบ้าง ไม่วันนี้ก็วันหน้า เขาก็จะเริ่มปรับตัวเข้าหาเราและคุยในสิ่งที่ชอบพอเช่นเดียวกัน  แล้วมุมมองและความสัมพันธ์ระหว่างกันก็จะดีขึ้น งานที่สานต่อกันก็จะราบรื่นขึ้นอย่างแน่นอน  

 

3.การจัดการหัวหน้างาน

ผมไม่ได้หมายถึงให้ท่านเผด็จศึกหรือพกเลื่อยมาบั่นขาเก้าอี้หัวหน้าหรอกนะครับ แต่กำลังจะแนะนำให้ท่านจัดการกับหัวหน้า โดยเริ่มต้นจากการรับรู้และเข้าใจในสิ่งที่หัวหน้าเป็นเสียก่อน จากนั้นจึงหาแนวทางที่เหมาะกับหัวหน้าแต่ละสไตล์ 

ความจริงนั้น เราเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใครไม่ได้หรอกครับ ที่จะทำได้ก็คือการเปลี่ยนแปลงตัวเราให้เข้ากับคนอื่นต่างหากล่ะ และที่สำคัญนั้น ท่านต้องไม่ละเลยที่จะปรับตัวให้เข้ากับอุปนิสัยของหัวหน้าอย่างถึงที่สุด (เพราะเราไม่อาจเปลี่ยนคนอื่นได้ฉันท์ใด หัวหน้าก็เป็นคนนั้นที่ยากจะเปลี่ยนให้เป็นได้อย่างที่เราคิด) ทว่าโชคดีอยู่ที่หัวหน้างานส่วนใหญ่มักจะมีเหตุมีผล มีความเป็นผู้ใหญ่เพียงพอ การรับมือกับหัวหน้าจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพียงแต่ต้องคิดให้ได้และทำให้เป็นเท่านั้น

 

อยากฝากให้ท่านผู้อ่านได้ทดลองใคร่ครวญกับคำกล่าวที่ว่า แท้จริงแล้วการเป็นผู้ตามที่ดีเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในภายหน้า

หากคำตอบของท่านคือเห็นด้วย ก็โปรดอย่าได้รีรอที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้ตามที่ดีในวันนี้ เพื่อวันข้างหน้าที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานที่ท่านรัก

 

ด้วยการคิดและลงมือทำอย่างจริงจังครับ

 

รวมเรื่องราวน่ารู้ในงาน HR จากวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการพัฒนาบุคลากร ผู้ผ่านประสบการณ์งานบริหาร HR จากองค์กรในโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ

สอบถามข้อมูลด้าน HR หรือแลกเปลี่ยนมุมมองได้ที่ 0-2514-7472 กด 6

หรือ E-mail : [email protected] (ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น)

 

Credit  :  ดร.ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต  (Professional Training & Consultancy)

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top