HR TIPS

ความผิดกรณีร้ายแรงหรือไม่ พิจารณาอย่างไร

1099    40748  

         กฎหมายแรงงาน คำว่า “การฝ่าฝืนกรณีที่ร้ายแรง” มักจะเกิดปัญหาในการวินิจฉัยตัดสินของ HR หรือ ER (Employee Relations) ว่า มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร ว่าลูกจ้างกระทำความผิดนั้นเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง ขอให้ท่านได้ศึกษากฎหมายและตัวอย่าง ดังต่อไปนี้

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑

มาตรา ๑๑๙  นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(๑) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(๒)    จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(๓) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(๔) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน

หมาย ความว่า ถ้าลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับกรณีที่ร้ายแรง นายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการตักเตือนก่อน และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใดๆ ดังนั้น HR หรือ ER จึงต้องศึกษาเรื่องนี้ให้เข้าใจและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

การฝ่าฝืนกรณีที่ร้ายแรงมีอยู่หลายกรณี คือ  

1. การฝ่าฝืนที่ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายผิดปกติธรรมดา

        การกระทำบางอย่างไม่เป็นกรณีร้ายแรงในตัว  แต่เมื่อพิจารณาถึงกิจการงานของนายจ้างแล้วจะเสียหายแก่นายจ้างร้ายแรง เช่น ลูกจ้างทะเลาะวิวาทกันไม่ถึงกับทำร้ายร่างกายบาดเจ็บ  ถ้า เกิดเหตุในโรงงานไม่ใช่กรณีร้ายแรง แต่ถ้าลูกจ้างภัตตาคารหรือสถานบริการทะเลาะวิวาทกันต่อหน้าแขกที่มารับ บริการ อาจทำให้เสียชื่อเสียง ทำให้แขกหวั่นเกรงว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัยเมื่อมาใช้บริการ จึงเป็นเรื่องร้ายแรง     

 

         การ สูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบโดยทั่วไป สูบในห้องน้ำไม่ร้ายแรง แต่ถ้าลูกจ้างสูบบุหรี่บริเวณปั๊มน้ำมัน คลังเก็บสารเคมี หรือคลังเก็บสินค้า แม้ว่ายังไม่เกิดความเสียหาย ถือว่าย่อมเล็งเห็นผลที่จะเกิดความเสียหายได้ ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง

2. การฝ่าฝืนที่เป็นการผิดกฎหมายอาญา

        การกระทำผิดกฎหมายอาญาโดยปกติถือว่าร้ายแรง เช่น การเป็นเจ้ามือหวยใต้ดินในที่ทำงาน  การปลอมแปลงใบรับรองแพทย์  การ เล่นการพนันไม่ว่าเล่นในเวลาทำงานหรือนอกเวลาก็ตาม ถ้าเล่นในบริเวณบริษัทเป็นเรื่องร้ายแรง ทำร้ายผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ พกพาอาวุธปืน  ทำร้ายร่างกายหัวหน้างานเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่

         แต่ การฝ่าฝืนที่มีความผิดอาญาไม่ถือเป็นกรณีร้ายแรงทุกกรณี หากเป็นความผิดเล็กน้อย มีโทษเล็กน้อยก็ไม่ร้ายแรง เช่น การดูหมิ่นเพื่อนร่วมงาน ทะเลาะวิวาท ก่อความวุ่นวาย การทำร้ายเพื่อนร่วมงานไม่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษมีโทษเล็กน้อย นายจ้างจะเลิกจ้างทันทีโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไม่ได้ ต้องมีการตักเตือนเป็นหนังสือก่อน        

3. การฝ่าฝืนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกิจการของนายจ้าง

       การเปิดเผยความลับเกี่ยวกับกิจการของนายจ้าง  ยุยง ก่อความไม่สงบในหมู่ลูกจ้าง เปิดกิจการค้าขายแข่งกับนายจ้าง ช่วยค้าขายให้ผู้อื่นที่มีกิจการอย่างเดียวกับนายจ้าง ถือเป็นการฝ่าฝืนกรณีที่ร้ายแรง

     การดื่มสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่หรือมึนเมาสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ไม่ถือเป็นความผิดร้ายแรง  แต่ การดื่มสุราอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อกิจการของนายจ้างถือเป็นเรื่องร้ายแรง เช่น บริษัทรักษาความปลอดภัย ได้ทำสัญญากับลูกค้าว่า รปภ.ที่เข้าปฏิบัติหน้าที่จะต้องงดการดื่มสุราก่อนเข้างาน 4 ชั่วโมงและบริษัทกำหนดห้าม รปภ. ดื่มสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นการที่ รปภ.ดื่มสุราก่อนเริ่มงานถือเป็นความผิดกรณีร้ายแรง  หรือ กรณีพนักงานขับรถรับส่งผู้บริหารหรือลูกค้า ต้องปฏิบัติหน้าที่ส่งผู้โดยสารให้ถึงจุดหมายด้วยความปลอดภัย ดังนั้น หากพนักงานขับรถดื่มสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่จึงถือว่าเป็นความผิดกรณีร้าย แรง

4. การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับที่ระบุว่าเป็นกรณีร้ายแรง

    นาย จ้างอาจกำหนดว่าการฝ่าฝืนกรณีใดบ้างที่เป็นกรณีร้ายแรง ย่อมมีผลเป็นไปตามระเบียบที่นายจ้างกำหนด แต่หากเป็นกรณีไม่ร้ายแรงแล้วนายจ้างกำหนดว่าร้ายแรง โดยไม่มีเหตุพิเศษใดๆ ศาลจะไม่ยอมรับว่าความผิดนั้นร้ายแรง เช่น การระบุว่าการขาดงานหนึ่งวันเป็นความผิดร้ายแรง เป็นการขัดต่อกฎหมาย ไม่มีผลใช้บังคับได้

      แต่ ถ้ากฎหมายระบุว่าเป็นกรณีร้ายแรง หากระเบียบข้อบังคับระบุว่าไม่เป็นความผิดร้ายแรงก็ต้องเป็นไปตามระเบียบข้อ บังคับ ซึ่งถือว่าเป็นคุณแก่ลูกจ้าง นายจ้างจะอ้างว่าร้ายแรงไม่ได้    

5. การฝ่าฝืนที่ส่อไปในทางทุจริต

         การ ฝ่าฝืนบางกรณีแม้ไม่ใช่เรื่องทุจริต แต่เมื่อพิจารณาตำแหน่งหน้าที่ของลูกจ้างแล้ว เห็นได้ว่ามีผลประโยชน์ได้เสีย แม้ว่าลูกจ้างจะไม่ได้ทุจริตและไม่ได้ผลประโยชน์ ก็ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกรณีร้ายแรง เช่น ธนาคารห้ามพนักงานกู้ยืมเงินจากลูกค้า พนักงานนับเงินไปกู้ยืมเงินลูกค้า อาจไม่เป็นกรณีร้ายแรง แต่ถ้าเป็นผู้จัดการหรือเจ้าหน้าที่พิจารณาสินเชื่อ ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบหลักทรัพย์และประเมินราคา  มีอำนาจให้คุณให้โทษลูกค้าได้   ดังนั้น การที่ผู้จัดการหรือเจ้าหน้าที่พิจารณาสินเชื่อไปกู้ยืมเงินลูกค้า ถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งกรณีร้ายแรง     

      ดังนั้น ถือเป็นหน้าที่ของ HR หรือ ER ที่ต้องเสาะแสวงหาข้อเท็จจริง ระบุเหตุการณ์การกระทำให้ชัดเจนทั้ง ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ หลังเกิดเหตุ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เหตุการณ์เป็นอย่างไร คู่กรณีหรือประจักษ์พยานมีใครบ้าง ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร หากการฝ่าฝืนเป็นกรณีที่ไม่ร้ายแรง นายจ้างจะต้องเคยตักเตือนเป็นหนังสือก่อน แล้วลูกจ้างกระทำความผิดซ้ำในหัวข้อเดิมอีก นายจ้างจึงจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ 3

 

เครดิต   http://www.oknation.net/blog/Smartlearning/2010/11/18/entry-1

Tag :