HR TIPS

หน้าที่ของ HR ก็คือ การค้นหาความจริงให้เจอ

613    16168  

หน้าที่ของคนที่ทำงาน HR ไม่ว่าจะเป็นสรรหาคัดเลือก พัฒนาพนักงาน ค่าจ้างเงินเดือน หรือการสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีนั้น ล้วนแต่เป็นหน้าที่ของการค้นหาความจริงให้เจอ เพื่อที่จะได้บริหารจัดการกับความจริงต่างๆ เหล่านั้นได้อย่างมืออาชีพ

พนักงานที่หางาน หรือทำงานกับบริษัท ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยเปิดเผยความจริงให้กับนายจ้างทราบเท่าไหร่นัก ดังนั้น HR ที่ทำงานกับคน จึงต้องทำหน้าที่ในการค้นหาความจริง โดยอาศัยวิธีการ หลักการ และแนวทางต่างๆ เพื่อให้เราได้มาซึ่งความจริงของพนักงานนั่นเอง

  • การสรรหาคัดเลือกพนักงาน เวลาที่มีคนสมัครงาน แน่นอนว่า เขาต้องพยายามบอกแง่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ ประสบการณ์ในการทำงาน ทักษะในการทำงาน รวมถึงพยายามที่จะแสดงพฤติกรรมที่ดีให้กับเราได้เห็น ก็เพื่อที่ทำให้นายจ้างสนใจ และยอมรับเขาเข้าทำงาน ฝ่ายบุคคลของบริษัท เมื่อทราบดังนี้ ก็ต้องหาวิธีการที่จะต้องค้นหาความจริงของพนักงานที่มาสมัครงานว่าตัวตนที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร เพื่อที่จะให้เราได้พนักงานที่เหมาะสมกับการทำงานมากที่สุด
  • การพัฒนาพนักงาน พนักงานบางคน ก็ไม่ค่อยอยากจะพัฒนาตนเองเท่าไหร่ เพราะอาจจะไม่เห็นความสำคัญ หรือกลัวจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำงาน ก็เลยพยายามบอกหัวหน้าว่า เขาโอเคอยู่แล้ว เขาทำงานได้ เขารู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับงาน เขามีประสบการณ์ในการทำงานแบบนั้นแบบนี้มาก่อน เพื่อที่จะไม่ต้องพัฒนาอะไรให้เหนื่อย หรือในทางตรงกันข้าม พนักงานบางคนก็ต้องการที่จะได้รับการพัฒนา อยากออกไปข้างนอกบริษัท ไม่อยากทำงาน ก็เลยพยายามจะบอกว่าตนเองยังขาดความรู้ ขาดทักษะด้านนั้นด้านนี้ ให้ช่วยส่งไปอบรมหน่อย ก็มี ดังนั้น HR ก็ต้องมีวิธีการในการค้นหาความจริงในเรื่องของความรู้ทักษะของพนักงานแต่ละคนให้เจอเช่นกัน จะได้พัฒนาพนักงานได้อย่างตรงจุดและตรงประเด็น
  • การบริหารค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการ เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พนักงานมักจะไม่ค่อยบอกความจริง สิ่งที่ HR มักจะได้รับจากพนักงานก็คือ ข้อมูลของบริษัทที่จ่ายดีกว่าเสมอ ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทน หรือสวัสดิการ พนักงานก็มักจะอ้างอิงเฉพาะบริษัทที่เขาจ่ายดีกว่า แต่บริษัทที่เราแข่งด้วย แต่จ่ายสู้เราไม่ได้ พนักงานก็มักจะทำเป็นไม่รู้ เพราะต้องการให้ระดับค่าจ้างและสวัสดิการสูงขึ้นนั่นเอง HR ก็ต้องทำหน้าที่ในการค้นหาความจริงอีกเช่นกัน โดยอาศัยข้อมูลข้อเท็จจริง และหลักเหตุผล ในการที่จะเปรียบเทียบการจ่ายค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการระหว่างบริษัทกับตลาด เพื่อที่จะนำข้อเท็จจริงเหล่านั้นมาใช้ในการกำหนดนโยบายและอัตราค่าจ้างเงินเดือนที่แข่งขันได้อย่างแท้จริง
  • ข้อมูลความพึงพอใจ และ ความผูกพัน เรื่องของการสำรวจความพึงพอใจของพนักงาน และความผูกพันของพนักงานก็เช่นกัน พนักงานเองมักจะพูดในสิ่งที่เขาอยากพูด และอยากให้คนอื่นรับรู้ ส่วนใหญ่ก็จะพูดในมุมมองของตนที่มีต่อสิ่งนั้น หรือบางครั้งบางเรื่องก็ดีอยู่แล้ว แต่พูดในลักษณะที่ยังไม่ค่อยดี เพื่อที่จะทำให้ผู้บริหารมองว่าจะต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นไปอีก ดังนั้น HR จึงต้องค้นหาความจริงให้เจออีกเช่นกัน มิฉะนั้น ระบบงานต่างๆ ที่เราทำมันจะไม่ตอบโจทย์ที่แท้จริงของพนักงานเลย
  • ข้อมูลการลาออก ประเด็นสุดท้ายก็คือ Exit interview พนักงานเองก็ไม่ค่อยที่จะพูดความจริงให้ทราบอีกเช่นกัน HR บางคนคิดว่า ไหนๆ พนักงานจะออกแล้ว เขาจะโกหกเราไปทำไม แต่พนักงานเองกลับคิดในทางตรงกันข้าม ก็คือ ไหนๆ เราก็จะออกแล้ว ก็อย่าไปขุดคุ้ยอะไรให้มันยุ่งเลยดีกว่า พูดๆ อะไรไปก็ได้ เมื่อเป็นแบบนี้ HR ก็ต้องค้นหาความจริงอีกเช่นกัน ว่าสิ่งที่พนักงานให้ข้อมูลมานั้นมันจริงหรือไม่อย่างไร

เห็นมั้ยครับ งาน HR ส่วนใหญ่ก็คือ งานค้นหาความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ดังนั้น ปัจจุบันที่มีเรื่องของ big data หรือ HR Analytic จึงเป็นการนำเอาข้อมูลสถิติต่างๆ ทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลมาวิเคราะห์ ตรวจสอบ เปรียบเทียบกับข้อมูลที่พนักงานให้มา ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้ได้ข้อมูลที่เป็นความจริงมากที่สุดนั่นเอง เรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งในการบริหารทรัพยากรบุคคลในอนาคต

จริงๆ จะว่าไปแล้ว HR ก็เหมือนนักสืบนะครับ

บทความโดย :  ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร: Think People Consulting
อ่านเรื่องราวดีเพิ่มเติมได้ที่ Prakal's Blog  : https://prakal.wordpress.com/
Facebook : https://www.facebook.com/Prakal-HR-community-232248973462063/

Tag :