กฎหมายแรงงานที่หลายบริษัททำผิด ลูกจ้างอาจยังไม่รู้สิทธิ์ของตัวเอง

  • 24 Jan 2025
  • 9752
กฎหมายแรงงาน,ลาป่วย, ลากิจ, ลาพักร้อน, ค่าล่วงเวลา

หลายบริษัทมีข้อบังคับการทำงานที่ขัดต่อ กฎหมายแรงงาน และบอกกับลูกจ้างด้วยว่า มันคือกฎของบริษัทที่ต้องทำตาม ซึ่งแม้ทำสัญญาให้ลูกจ้างรับทราบแล้ว ไม่มีกฎใดอยู่เหนือ กฎหมายแรงงาน สัญญาดังกล่าวถือเป็นโมฆะ ตามมาตรา 150 นะคะ

 

กรณีนี้ยังทำให้ลูกจ้างหลายคนเข้าใจผิดว่ามันสามารถบังคับใช้ได้จริง ไม่ผิดกฎหมาย โดยไม่รู้เลยว่าสิทธิ์ ลาป่วย ลากิจ ลาพักร้อน ค่าล่วงเวลา รวมถึงสิทธิ์การได้รับค่าจ้างในวันหยุด การไม่ได้รับความเป็นธรรมต่าง ๆ กฎหมายแรงงาน ได้กำหนดสิทธิ์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างอย่างไร

 

 HR Buddy ขอแชร์ 10 ข้อ กฎหมายแรงงาน พื้นฐานที่หลายบริษัททำผิดและลูกจ้างอาจยังไม่รู้สิทธิ์ของตัวเองแท้จริงแล้วที่ถูกต้องตาม กฎหมายแรงงาน คือแบบไหน ?

 

1 หักค่าจ้างในวันลาป่วย : ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงาน ทั้งพนักงานรายเดือน รายวัน หรืออยู่ในช่วงทดลองงาน มีสิทธิ์ ลาป่วย ได้เท่าที่ป่วยจริง โดยได้รับค่าจ้างเท่ากับวันทำงานปกติไม่เกิน 30 วันทำงาน/ปี ดังนั้น เมื่อลูกจ้างใช้สิทธิ์ ลาป่วย หักเงินไม่ได้นะคะ ยกเว้นจะสืบทราบว่าเขาไม่ได้ป่วยจริง ก็ถือว่าขาดงานและตัดค่าจ้างในวันนั้น หรือออกใบเตือนด้วยได้เช่นกัน

 

2 หักค่าจ้างในวันลากิจ : พนักงานทุกประเภทได้รับสิทธิ์ ลากิจ ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงาน และในวันที่ใช้สิทธิ์ ลากิจ ต้องจ่ายค่าจ้างให้ตามปกติไม่เกิน 3 วันทำงาน/ปี แต่ถ้าลูกจ้างใช้สิทธิ์ ลากิจ หรือ ลาป่วย บ่อยเกินไป ก็นำมาเป็นเกณฑ์ในการประเมินทดลองงานได้ รวมถึงประเมินผลงานการปรับขึ้นเงินเดือนหรือโบนัสได้เช่นกัน ไม่ผิด กฎหมายแรงงาน ค่ะ

 

3 ทำงานครบ 1 ปีไม่ให้สิทธิ์ลาพักร้อน : เมื่อลูกจ้างทำงานครบ 1 ปี นายจ้างมีหน้าที่กำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือวัน ลาพักร้อน ให้ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน/ปี และจ่ายค่าจ้างเท่ากับวันทำงานปกติ แต่ถ้าในปีนั้นลูกจ้าง ลาพักร้อน ไม่ครบจำนวนวันตามสิทธิ์ดังกล่าว ต้องจ่ายเป็นค่าทำงานในวันหยุดหรือให้สะสมในปีต่อไป

 

4 ไม่จ่ายค่าล่วงเวลาตามกฎหมาย : ในวันทำงานปกติ หากให้ทำงานล่วงเวลา ต้องจ่าย ค่าล่วงเวลา ให้ทั้งพนักงานรายเดือนและรายวน 1.5 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมง และถ้าสั่งให้มาทำงานในวันหยุด ต้องจ่าย ค่าล่วงเวลา สำหรับพนักงานรายเดือน 1 เท่า พนักงานรายวัน 2 เท่า แต่ถ้าให้ทำงานล่วงเวลาในวันหยุด ต้องจ่าย ค่าล่วงเวลา ให้พนักงานทุกประเภท 3 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมงนะคะ

 

5 ไม่จ่ายค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณี : นายจ้างต้องประกาศวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างได้หยุดงานและได้รับค่าจ้างตามปกติไม่น้อยกว่า 13 วัน/ปี (รวมวันแรงงานแห่งชาติแล้ว) แต่ถ้าถึงวันหยุดแล้วสั่งให้มาทำงาน ก็ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุด ตามอัตรา ค่าล่วงเวลา ที่ กฎหมายแรงงาน กำหนดเท่านั้น และถ้าวันหยุดนั้นตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ก็ให้ไปหยุดชดเชยในวันทำงานถัดไป

 

6 จัดเวลาพักให้น้อยกว่า 1 ชม.ต่อวัน : เมื่อทำงานติดต่อกันมาแล้วไม่เกิน 5 ชม. ต้องจัดเวลาพักระหว่างการทำงานให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่า 1 ชม.ต่อวัน และหากในช่วงเวลาพักมีการสั่งให้ทำงาน ก็ต้องจ่าย ค่าล่วงเวลา ให้ลูกจ้างด้วยนะคะ

 

7 ไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ : นายจ้างต้องจัดวันหยุดประจำสัปดาห์ให้อย่างน้อย 1 วัน/สัปดาห์ จะกำหนดวันไหนก็ได้ค่ะ แต่ถ้ายังสั่งให้มาทำงานก็ต้องจ่าย ค่าล่วงเวลา ตามกฎหมาย

 

8 ลดเงินเดือน ลดตำแหน่ง : หากลูกจ้างไม่ยินยอม ไม่สามารถลดเงินเดือนหรือลดตำแหน่งได้ หรือแม้เป็นการลดตำแหน่งแต่เงินเดือนเท่าเดิม เช่น ตำแหน่งเลขานุการ ย้ายเป็นตำแหน่งแม่บ้าน เช่นนี้ก็ได้ใช้ทักษะที่น้อยกว่าเดิม ถือว่าไม่เป็นคุณกับลูกจ้าง หากไม่ทำตามก็ไม่ถือว่าเป็นการขัดคำสั่ง และหากเลิกจ้าง ลูกจ้างก็มีสิทธิ์ฟ้องนะคะ

 

9 บังคับให้เซ็นใบลาออก : การสั่งให้ลูกจ้างเซ็นใบลาออกโดยไม่เต็มใจ ถือเป็นการบีบให้ลาออก แม้ลูกจ้างจะเซ็นไปแล้วก็ฟ้องศาลได้เช่นกัน โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย (กรณีทำงานครบ 120 วัน) และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยค่ะ

 

10 เลิกจ้างกะทันหัน : การบอกเลิกสัญญาทั้งฝ่ายนายจ้างลูกจ้าง ต้องบอกล่วงหน้า 1 งวดการจ่ายค่าจ้าง กรณีเลิกจ้างกะทันหัน ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และหากทำงานครบ 120 วันก็ต้องจ่ายค่าชดเชย

 

แต่ถ้าลูกจ้างลาออกกะทันหัน นายจ้างก็มีสิทธิ์ฟ้องเช่นกัน หากพิสูจน์ได้ว่าลูกจ้างทำให้เสียหาย แต่ไม่มีสิทธิ์หักเงินลูกจ้างเองนะคะ ต้องฟ้องแยกต่างหาก

 

ทั้งนี้ การไม่ให้สิทธิ์ ลาป่วย ลากิจ หรือ ค่าล่วงเวลา ลูกจ้างมีสิทธิ์ร้องเรียนได้ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งแม้จะได้รับเงินคืนตาม กฎหมายแรงงาน แต่ผลที่ตามมาอาจทำให้ต้องลาออกจากงานและบริษัทก็เสียชื่อเสียงด้วย

 

การปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่แรก สร้างความยุติธรรมให้ทั้งนายจ้างลูกจ้าง สร้างบรรยากาศที่ดี ประสิทธิภาพการทำงานก็ย่อมดีตาม ใคร ๆ ก็อยากอยู่ อยากทุ่มเททำงานให้บริษัทนาน ๆ ค่ะ

 

สอบถามเพิ่มเติมสำหรับ HR : [email protected]

JOBBKK.COM © Copyright All Right Reserved

Jobbkk has only one website. In no case, we have an affiliate, agent or appointee. Please do not rely on any other website, email, telephone, SMS or other contacting channel. If it is a case, we will prosecute under a lawsuit in the upmost as allowed. DBD

Top